วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ประเพณีวัฒนธรรม

 

การกวนข้าวอาซูรอ(ขนมอาซูรอ)




รูปภาพ : พี่น้องมุสลิม 3 จชต.ร่วมต้อนรับฮิจเราะห์ 1440 เพื่อรำลึกถึงนบีนุฮ(อล.)ด้วยการสืบสานประเพณีการกวนข้าวอาซูรอ


    การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลาย อย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละ มือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงกันในหมู่

ความเป็นมา 

   การกวนขนมอาซูรอ สืบเนื่องมาแต่สมัยนบีนุฮฺ(อล) สมัยนั้นเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ยังความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินไร่นาของประชาชนทั่วไป บรรดาสาวกของนบีนุฮฺ(อล) และคนทั่วไปขาดอาหาร นบีนุฮฺ(อล)จึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของเหลือพอจะรับประทานได้ ให้เอามากองรวมกัน เนื่องจากต่างคนต่างมีกันคนละอย่างไม่เหมือนกัน นบีนุฮ(อล)ให้เอาของเหล่านั้นมากวนเข้าด้วยกัน ในที่สุดสาวกของท่านก็ได้รับประทานอาหารทั่วกันและเหมือนกัน ในสมัยนบีมุฮัมมัด(ศ็อลฯ) เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก ขณะที่กองทหารของท่านกลับจากการรบที่ "บาดัร” ปรากำว่าทหารมีอาหารไม่พอกิน ท่านสมัยนบีมุฮัมมัด(ศ็อลฯ) จึงใช้วิธีการของนบีนุฮฺ(อล) โดยให้ทุกคนเอาข้าวของที่รับประทานได้มากวนเข้าด้วยกันแล้วแบ่งกันรับประทานในหมู่ทหารทั้งปวง ประเพณีดังกล่าวจึงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ความสำคัญ

    การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า "อาซูรอ” เป็นภาษาอาหรับ หมายถึงวันที่ ๑๐ ของเดือนมูฮรอม อันเป็นเดือนแรกของปฏิทินอาหรับ ซึ่งเป็นเดือนทางศักราชอิสลาม มีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับ แปลว่า การผสมหรือรวมกัน หมายถึง คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมารวมกัน มีทั้งชนิดคาวและชนิดหวาน การกวนอาซูรอมิได้เป็นพิธีกรรมหรือศาสนกิจที่บังคับให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามต้องปฏิบัติ แต่เป็นกิจกรรมที่ปฏิบัติเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ก่อนจะแจกจ่ายให้คนทั่วไปรับประทานกัน

 

พิธีกรรมอาซูรอ

    การกวนข้าวอาซูรอ เริ่มด้วยการที่เจ้าภาพประกาศเชิญชวนนัดหมายให้ชาวบ้านทราบว่า จะมีการกวนข้าวอาซูรอกันที่ไหน เมื่อใด เมื่อถึงกำหนดนัดหมาย ชาวบ้านก็จะนำอาหารดิบ เช่น เผือกมัน ฟักทอง มะละกอ กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เป็นต้น มารวมเข้าด้วยกันแล้วปอกหั่น ตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้นนำเครื่องปรุง เช่น ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ เป็นต้น มาเป็นเครื่องผสม โดยหั่นตัดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เช่นเดียวกัน สำหรับกะทิจะคั้นเฉพาะนำมาผสม ก่อนจะแจกจ่ายอาซูรอให้รับประทานกัน มีพิธีกรรมเชิญบุคคลที่นับถือของขุมชน เช่น อิหม่าม โต๊ะครูหรือบุคคลที่ได้ศึกษาด้านศาสนาขั้นสูงสุดของชุมชน ขึ้นมากล่าวขอพร (ดูอา) ก่อน แล้วจึงแจกจ่ายให้คนทั่วไปรับประทานกัน

วิธีกวนอาซูรอ

๑. นำเมล็ดธัญพืชทั้งหมดมาแช่ไว้ ๑ คืน

๒. ตอนเช้านำธัญพืชที่แช่ไว้มาปั่นให้ละเอียด

๓. หั่นวัตถุดิบทั้งหมดให้เป็นชิ้นเล็กๆ

๔. นำกระทะใบใหญ่ตั้งไฟ มีไม้พายสำหรับกวนขนม หลังจากตั้งกระทะบนเตาแล้วก็คั้นน้ำกะทิและ ใส่น้ำกะทิลงไปตั้งไฟ

๕. ใส่ข้าวสารทั้งหมด พอข้าวสารแตกละเอียดก็ใส่วัตถุดิบที่หั่นเตรียมเอาไว้ลงไปต้มในกระทะและรอจนทุกอย่างเปื่อยละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน ประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง ทุกอย่างจะสุกเป็นเนื้อเดียวกัน ระหว่างรอ จะกวนไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้อาซูรอติดกระทะและสุมไฟให้แรงอยู่ตลอดเวลา

๖. พอใกล้จะสุกก็ใส่น้ำตาลและละลายแป้งกับน้ำใส่ไปแล้วใส่พริกไทยกวนจนเหนียวแห้งประมาณ ๑ ชั่วโมงถึงจะเสร็จ

๗. พอเสร็จได้ที่แล้วก็นำมาเทใส่ภาชนะที่เตรียมไว้เพื่อรอให้เย็น เมื่อเย็นแล้วนำมาตัดเป็นชิ้นพร้อมเสริฟต์

ประโยชน์ของภูมิปัญญา

๑. ใช้เป็นอาหารเหมาะกับการจัดงานต่างๆ แต่ขนมอาซูรอจะนิยมทำในเดือนมูฮัรรอมทางศาสนาอิสลาม

๒. เหมาะกับการจัดงานที่ใหญ่โต เพราะขนมอาซูรอจะทำแต่ละครั้งต้องอาศัยผู้คนมากทำครั้งเดียวแต่รับประทานกันหลายคน

๓. จากการจัดกิจกรรมนี้ (ขนมอาซูรอ) ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านเกิดความสมัครสมานสามัคคีขึ้น

ประเพณีการกวนขนมอาซูรอกับความเชื่อ











แหล่งที่มาของข้อมูล
รูปภาพ : https://psu10725.psu.ac.th/web/index.php

ข้อมูลการกวนข้าวอาซูรอ :https://www.m-culture.go.th/phatthalung/ewt_news.php?nid=3303&filename=index







ประเพณีวัฒนธรรม

  การกวนข้าวอาซูรอ(ขนมอาซูรอ) รูปภาพ : พี่น้องมุสลิม 3 จชต.ร่วมต้อนรับฮิจเราะห์ 1440 เพื่อรำลึกถึงนบีนุฮ(อล.)ด้วยการสืบสานประเพณีการกวนข้าว...